เอกสารสิทธิที่ราชการออกให้หนังสือทั้ง 4 ประเภทนี้ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ผู้ที่มีแบบ ก.ส.น. 5 ก็ดี น.ค.3 ก็ดี จะต้องไปขอออกหนังสือรับรองทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแล้วแต่กรณี ซึ่งเมื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวแล้วจะต้องห้ามโอน 5 ปี รายละเอียด ดังนี้
ภ.บ.ท. 5 | เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ |
ก.ส.น.5 | เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 |
น.ค. 3 | เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสร้างตนเอง ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 |
ส.ท.ก. | เป็นหนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นผู้ออกให้ |
ส.ป.ก | เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 |
ภ.บ.ท. 5เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ความหมายของที่ดิน ใน ภ.บ.ท. 5 หมายความว่า พื้นที่ดินและให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ำด้วย (มาตรา 6) ซึ่งมีข้อยกเว้น ตาม (มาตรา 8 ) เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่น สำหรับที่ดินต่อไปนี้
1) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
2) ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ โดยมิให้หาผลประโยชน์
3) ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่น หรือสาธารณะโดยมิได้หาประโยชน์
4) ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ
5) ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไม่ว่าจะใช้ประโยชน์ศาสนกิจ ศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือที่ศาลเจ้าโดยมิได้หาผลประโยชน์
6) ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถาน สาธารณะโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
7) ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ
8 ) ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว
9) ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยเจ้าของที่ดินมิได้ใช้ หรือหาประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น
10) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่มีข้อผูกพันยกเว้นตามอนุสัญญาหรือข้อตกลง
11) ที่ตั้งสถานทูต สถานกงสุล
12) ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ก.ส.น. 5เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้นิคมสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511การได้สิทธิในที่ดินของสมาชิกนิคมสหกรณ์ การจัดการที่ดินลักษณะนี้ กฎหมายมุ่งที่จะให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดินหรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว) หรือสิทธิครอบครอง (น.ส.3) เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์นั้น ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ คือ
1) เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้ทำประโยชน์ที่ดินแล้ว
2) เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
3) ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อย
4) ชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว
สมาชิกนิคมสหกรณ์ที่ปฏิบัติครบตามหลักเกณฑ์ ทั้ง 4 ข้อ ดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์นั้น ๆ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เมื่อได้รับอนุญาตแล้วสมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้นั้นก็สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส. 3 ผู้ได้มาซึ่งที่ดินจะโอนที่ดินไปให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกอยู่ และภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีด้วย
น.ค. 3เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสร้างตนเองตาม พ.ร.บ. จัดที่ดิน เพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 การได้สิทธิในที่ดินของสมาชิกนิคมสร้างตนเอง เมื่อสมาชิกได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ
1) ต้องเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2) ต้องไม่มีหนี้สินที่เกี่ยวกับกิจการนิคม
3) ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
4) ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 8 ตาม พ.ร.บ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 สมาชิกสงเคราะห์จะออกหนังสือการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมสร้างตนเอง
ส.ท.ก.กรมป่าไม้ได้เริ่มดำเนินการให้สิทธิทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มานับตั้งแต่ปี 2525 ต่อมาปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 กำหนดให้มีมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี ขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีความจำเป็นในการครองชีพ สามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้โดยไม่เดือนร้อน และโดยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งซึ่งความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองว่าสิทธิทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้มอบให้กับราษฎรนั้นเป็นไปตามกฎหมาย
การออกหนังสือ สทก.1. การที่จะให้ “สทก.” ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใด ๆ กรมป่าไม้จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเดินสำรวจในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น ๆ ว่ามีพื้นที่บริเวณใดที่ยังคงมีสภาพป่าดีอยู่ มีพื้นที่ใดที่ควรสงวนรักษาไว้มีพื้นที่ที่หมดสภาพป่าไปแล้วเป็นสภาพที่มีลักษณะเสื่อมโทรมจำนวนเท่าใด จัดทำแผนที่รายงานต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามประกาศกำหนดให้บริวเณพื้นที่ที่สภาพเสื่อมโทรมดังกล่าวให้เป็น “เขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” แล้วกรมป่าไม้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อพิจารณาให้สิทธิทำกินต่อไป
2. เมื่อกรมป่าไม้กำหนดที่จะทำการสำรวจสภาพพื้นที่ในเขตป่าใด
2.1 ประชาสัมพันธ์นัดหมายราษฎรพื้นที่มาประชุมฟังคำชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ
2.2 ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินในเขตปรับปรุงป่าสงวนแหงชาติ ยื่นคำขอมีสิทธิทำกิน ตามเวลากำหนด โดยต้องนำบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านไปเป็นหลักฐานด้วย
2.3 เจ้าหน้าที่นัดหมายรษารผู้ยื่นคำขอแต่ละรายมานำสำรวจการถือครอบและตรวจสอบสภาพพื้นที่ หากถูกต้องตามกลักเกณฑ์และข้อกำหนดก็จำทำการรังวัดขอบเขตแปลงที่ดิน พร้อมกับฝังหลักเขตแสงดแนวแปลงที่ดิน
3. หนังสือ “สทก.” ที่มอบให้ราษฎรจะลงนามอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีลักษณะดังนี้
แบบที่ 1 เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือแบบ สทก.1ก. เป็นหนังสืออนุญาตให้ครั้งแรก มีอายุการอนุญาต 5 ปี ขนาดเนื้อที่อนุญาตให้ตามที่ครอบครองอยู่จริง แต่ไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเมื่อครบกำหนดการอนุญาตให้ครั้งแรก จะเปลี่ยนหนังสืออนุญาตตามแบบ สทก.2 ก
แบบที่ 2 แบบ สทก.2 ก ออกให้สำหรับผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไข กรมป่าไม้จะออกหนังสือฉบับนี้ให้เพื่อมีสิทธิทำกินในที่ดินเดิมต่อไปซึ่งไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว (โดยจะเรียกเก็บหนังสือ สทก.1 ก ด้วย) มีอายุการอนุญาต 5 ปี และต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้อัตราไร่ละ 20 บาท (ต่อหนึ่งคราวการอนุญาต) เมื่อครบกำหนดก็จะมีการพิจารณาต่ออายุให้
แบบที่ 3 เรียกว่า “หนังสืออนุยษตให้ทำการปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือ แบบ สทก.1 ข เป็นหนังสืออนุญาตที่ออกให้แก่ราษฎรผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก ที่ครอบครองพื้นที่เกิดกว่า 20 ไร่ และมีความประสงค์จะปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเนื้อที่ไม่เกิน 35 ไร่ ต่อครอบครัว มีอายุการอนุญาตคราวละ 10 ปี และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตในอัตราไร่ละ 20 บาท ทั้งนี้ราษฎรจะต้องปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น เมื่อครบกำหนดเวลาการอนุญาตก็สามารถต่ออายุได้
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้มีสิทธิทำกิน
1. จะต้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพิสูจน์แล้ว
2. เป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว
3. ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าที่มีสภาพเป็น ต้นน้ำลำธาร ภูเขาสูงชัน หรือมีสภาพที่ควรรักษาไว้
4. ไม่เป็นป่าชายเลน
5. ไม่เป็นพื้นที่ป่าที่ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้
6. ไม่เป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงามอันควรรักษาไว้
7. ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งได้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือได้รับอนุมัติโครงการสำหรับปลูกป่าระยะ 5 ปีไว้แล้ว
คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตมีสิทธิทำกิน
- เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล)
- บรรลุนิติภาวะแล้ว และเป็นหัวหน้าครอบครัว
- เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่ขอมีสิทธิทำกินอยู่แล้วสิทธิ
1. สามารถอยู่อาศัยและทำกินต่อไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยถูกต้องตามกำหมาย
2. สิทธิทำกินตกทอดไปถึงทายาทได้
3. สามารถขออนุญาตทำไม้ที่ได้ปลูกขึ้นภายในที่ดินที่ได้รับอนุญาต (ตามแบบ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก หรือ สทก.1 ข)เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า
4. สามารถขอรับการสนับสนุนเงินทุน ในรูปของสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตร ได้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามโครงการที่กรมป่าไม้ และ ธ.ก.ส. จัดทำขึ้น
หน้าที่
ผู้ที่ได้รับ สทก. ต้องปฏิบัตินั้นคือ ข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ ซึ่งปรากฏหลังของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ สารสำคัญคือ
1. จะต้องทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจาก สทก. ตามวัตถุประสงค์ที่ขอไว้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และจะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัว เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมิได้
2. ห้ามซื้อ-ขายที่ดิน สทก.
3. ห้ามละทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือไม่อยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับ สทก.
4. ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าในบริเวณติดต่อใกล้เคียง
5. ให้ความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ มาขอตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขหนังสืออนุญาต สทก. หากไม่ปฏิบัติตาม “หน้าที่”หรือ ทำผิด “เงื่อนไข” จะถูกเพิกถอน “สิทธิทำกิน” โดยจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกรณีใด ๆ มิได้
การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไข สทก.กรมป่าไม้จะส่งเจ้าหน้าที่ออกมาพบประชาชนผู้ได้รับ สทก. โดยสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบการใช้ที่ดิน ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่หากถูกต้องก็จะมี “สิทธิทำกิน” ต่อไปเรื่อย ไ
การดำเนินการในปัจจุบัน
ปัจจุบันกรมป่าไม้ไม่ได้มีการออก สทก. เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินก็จะหันไปขอเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. แทน แต่สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ สทก. แต่เดิมอยู่แล้วก็ยังคงมีสิทธิอยู่ตามเดิม
การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)ความหมายของ “การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” กำหนดไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินมาตรา 4 ความว่า “การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น”
การปฏิรูปที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรเป็นของ
ตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายตลอดไปตามขนาดและความจำเป็นของเกษตรกรรมนั้น ๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่ปรับปรุง ก่อสร้างถนน แหล่งน้ำ สาธารณูปโภคต่าง ๆ และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 จึงเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากมุ่งหมายให้เกษตรกรมีความเท่าเทียมกันด้านสิทธิและการถือครองที่ดินแล้วยังให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกรเพื่อให้สามารถดำรงชีพในที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินได้งานหลักของ ส.ป.ก. จึงมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ
1) งานจัดที่ดิน โดยนำที่ดินของรัฐและที่ดินเอกชนมาให้เกษตรกรเช่า เช่าซื้อ
2) งานพัฒนาขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำ เท่าที่จำเป็นในเขตปฏิรูปที่ดิน
3) งานพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกร
“เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรมหรือเป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์และ
เงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย
คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับที่ดินผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยวิธีการปฏิรูปที่ดินจะต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น กล่าวคือ
1. เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มิใช่อาชีพอื่น และต้องไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ
2. เป็นผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่เป็นเกษตรกร แต่ประสงค์จะเป็นเกษตรกรและมาขอรับการจัดที่ดินโดยจะต้องเป็นผู้ที่ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือเป็นบุตรของเกษตรกร และต้องไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและไม่มีอาชีพอื่น อันมีรายได้ประจำเพียงพอแก่การยังอาชีพอยู่แล้ว
การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐการปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การนำที่ดินของรัฐซึ่งถูกราษฎรบุกรุกถือครองโดยไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย หรือที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้มาจัดให้เกษตรกรเข้าทำกินเป็นการถาวรและถูกต้องตามกฎหมาย หรือ การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การที่ ส.ป.ก. นำที่ดินของรัฐ ได้แก่ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวรที่เสื่อมโทรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุ ที่กระทรวงการคลังให้ความยินยอมแล้ว ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่จำแนกออกจากเขตป่าไม้ถาวร นำมาจัดให้เกษตรกรเช่า เช่าชื้อ เข้าทำประโยชน์ หรือจัดให้โดยมีค่าชดเชย