270,000 ไร่ ตัวเลขกลม ๆ ของปัญหาบุกรุกป่าเฉพาะในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพียงอำเภอเดียว จากคำให้สัมภาษณ์ของ "เทวินทร์ มีทรัพย์" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้บริหารจัดการไปอย่างไรบ้าง คำตอบที่พบคือ ปัญหาการรื้อถอนรีสอร์ตที่บุกรุกป่าในเขตรับผิดชอบของ "หัวหน้าเทวินทร์" มีการดำเนินคดีต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปี 2545 สำหรับรีสอร์ตชื่อดัง 3 แห่งคือ "ผาหมอก-ทะเลหมอก-ผางาม" ทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอนาดี จ.ปราจีนบุรี และรอยต่ออำเภอวังน้ำเขียว คำสั่งล่าสุดคือเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ที่ผ่านมานี่เอง มอบหมายให้ "เร่งรัดรื้อถอน"...(อีกครั้ง)
นั่นหมายความว่า ถ้าคำนวณตามพื้นที่ทางปกครอง อำเภอวังน้ำเขียวเพิ่งจะมีปัญหาการบุกรุกป่าประมาณ 2.7 แสนไร่ดังกล่าว แต่หากคำนวณตามพื้นที่รับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ปัญหาบุกรุก "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่" กระทำกันในวงกว้าง ครอบคลุมไปถึงพื้นที่รอยต่อ คืออำเภอนาดีอีกมากกว่า 30,000 ไร่
กลับมาดูข้อมูลพื้นฐาน "อำเภอวังน้ำเขียว" แบ่งพื้นที่ทางปกครองเป็น 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 1.ตำบลวังน้ำเขียว (Wang Nam Khiao) มี 19 หมู่บ้าน 2.ตำบล
วังหมี (Wang Mi) 22 หมู่บ้าน 3.ตำบลระเริง (Raroeng) 14 หมู่บ้าน 4.ตำบลอุดมทรัพย์ (Udom Sap) 17 หมู่บ้าน 5.ตำบลไทยสามัคคี (Thai Samakkhi) 11 หมู่บ้าน
มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1,230 ตารางกิโลเมตร แยกเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ประมาณ 15% พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประมาณ 10% พื้นที่เขตอนุรักษ์ประมาณ 20%
ขณะที่ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินในเขตรับผิดชอบของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ "ส.ป.ก." และเป็นพื้นที่ที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ "ภบท.5" อีกจำนวนประมาณ 55%
ก่อนอื่นตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า จะลงทุนรีสอร์ตหรือจะพักผ่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำไมต้อง "วังน้ำเขียว" มีข้อมูลพบว่า อำเภอนี้ได้รับฉายาว่าเป็น "สวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน" มีความเป็นธรรมชาติสูง โดยเฉพาะเป็นถิ่นที่มีโอโซนอันดับ 7 ของโลก
ประเด็นนี้มีคำบอกเล่าคร่าว ๆ ว่า มีความพยายามจะโปรโมตอำเภอวังน้ำเขียว โดยชี้วัดจาก "เฟิร์น" ชนิดหนึ่งที่ต้องการอากาศธรรมชาติสูงมาก ๆ และจะพบได้ในป่าที่มีระดับโอโซนเบอร์ 7 ต่อมาปรากฏว่ามีคนนำเฟิร์นดังกล่าวมา
ทดลองปลูกที่อำเภอวังน้ำเขียวแล้วเจริญเติบโตได้ดี จึงอนุมานว่าวังน้ำเขียวมีความบริสุทธิ์ของอากาศหรือโอโซนอันดับ 7 ของโลกโดยปริยาย
สำหรับภาคเศรษฐกิจของอำเภอวังน้ำเขียวทุกวันนี้ นอกจากทำเกษตรกรรมเป็นรายได้หล่อเลี้ยงหลักแล้ว เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งก็ว่าได้ โดยธุรกิจท่องเที่ยวในอำเภอวังน้ำเขียวเพิ่งจะบูมจริง ๆ ไม่เกิน 4-5 ปีมานี่เอง
ถึงแม้จะมีถึง 5 ตำบล แต่กลับพบว่าตำบลยอดฮิตมีเพียง2 ตำบลหลัก ๆ คือ ตำบลไทยสามัคคีกับตำบลวังน้ำเขียว
"ตำบลไทยสามัคคี" เป็นจุดที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติทับลาน ภูมิศาสตร์เป็นที่ราบเป็นส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับตำบลวังน้ำเขียว และเป็นเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รื้อฟื้นเรื่องการรื้อถอนผู้บุกรุกป่าทำรีสอร์ตระลอกใหม่ในช่วงสุญญากาศทางการเมือง โดยมีกรอบเวลาที่จะจัดการปัญหาบุกรุกในอำเภอวังน้ำเขียวให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
อย่างน้อยที่สุด มีบ้านพักและรีสอร์ต 8 รายแรกที่จะถูกดำเนินคดีก่อนในเขตตำบลไทยสามัคคี ได้แก่ 1.บ้านไร่กฤษวรรณ วังน้ำเขียว 2.วังน้ำเขียวกรีน 3.คลองกระทิง
คันทรีวิลล์ 4.รีสอร์ทอิมภูฮิล 5.บ้านพักของนายสมศักดิ์ (ไม่ทราบนามสกุล) 6.นายแพทย์ประกิตเผ่า ทมชิตชงค์ 7.นายกอบกุล ชิงวงวัฒนา 8.นายรณกร พิชัยโยธิน ยังไม่รวมถึงกว่า 100 แห่งที่อยู่ในรายชื่อบัญชีดำ
ส่วน "ตำบลวังน้ำเขียว" ภูมิศาสตร์จะเป็นเนินเขาสลับลูกกันไปมา มีรอยต่อชนกับเขาใหญ่ การเดินทางทะลุถึงกันได้ บริเวณรอยต่อเรียกว่าเป็น "สะดือเขาใหญ่" เนื่องจากเป็นจุดบรรจบของลำพระเพลิง ลำน้ำมูล ลำตะคอง
จุดเด่นของตำบลวังน้ำเขียวคือ เป็นที่ตั้งของ "เขาแผงม้า" ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์วัวกระทิงที่มีชื่อเสียง ใคร ๆ อยากดูวัวกระทิงก็ต้องมาที่นี่ ก่อนหน้านี้ "คุณเก่ง-บริพัตร สุนทร" หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า บรรยายสรุปให้ฟังว่า เขตอำเภอวังน้ำเขียวกินพื้นที่ 2 อุทยานคือ "ทับลาน-เขาใหญ่" เมื่อปี 2537 ทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยเข้ามาทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ จนกระทั่งมูลนิธิได้ปิดตัวลงเมื่อปี 2550 ทีมงานเดิมจึงได้สถาปนากลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าขึ้นมาเพื่อสานต่อการดูแลอนุรักษ์วัวกระทิงให้อยู่กับผืนป่าวังน้ำเขียวอย่างต่อเนื่อง
เท่ากับว่ากลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าอยู่มาก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นอำเภอวังน้ำเขียวเมื่อปี 2539 จึงได้เห็นความเป็นไปของธุรกิจท่องเที่ยวตั้งแต่แรกเริ่มจนเข้าสู่ยุคบูมในทุกวันนี้
ถามถึงราคาที่ดิน จากที่เคยไร่ละ 500 บาทในอดีต ข้อมูลเมื่อต้นปี 2554 จะถามซื้อต้องคำนวณโดยคูณเข้าไปอีก 1,000 เท่า หรือตกไร่ละ 500,000 บาท โดยราคาที่มีการถามซื้อ-ขาย ถ้าเป็นตำบลไทยสามัคคีจะตกไร่ละ 1.4 ล้านบาท ตำบลวังน้ำเขียวรอยต่อเขาใหญ่ตกไร่ละ 1.3 ล้านบาท เป็นต้น
"ชาวบ้านรวยเพราะขายที่ดิน วิธีการจับจองบางทีก็เข้าไปสร้างบ้านที่เรียกว่าบ้านแดดเดียว คือสร้างแล้วตากแดด 1 แดด..."
ถนนเศรษฐกิจของวังน้ำเขียว นอกจากทางไปอุทยานแห่งชาติทับลานแล้ว ยังมีถนน รพช.หมายเลข 3051 วังน้ำเขียว-เขาใหญ่ จากปากทางลึกเข้าไป 6 ก.ม.จะถึงจุดที่ตั้งกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า เรียกได้ว่าเป็นดงชุกชุมของรีสอร์ตทุกระดับราคา
ลักษณะจำเพาะด้านการลงทุน เนื่องจากเอกสารสิทธิมีเพียง "ส.ป.ก." กับ "ภบท.5" ดังนั้น โครงการพัฒนาที่ดินในวังน้ำเขียวจึงไม่มีการลงทุนหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบโฉนดให้ผู้ซื้อได้ ดังนั้น ร้อยทั้งร้อยจึงมีเพียงอสังหาริมทรัพย์ประเภท "ให้เช่า" ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ต บังกะโล โฮมสเตย์ ฯลฯ
"คุณหน่อง-ปรัชญ์ไชย สุธนาภรณ์" ผู้จัดการวิลล่าเขาแผงม้า รีสอร์ตระดับบน เนื้อที่ 18 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้กับกลุ่มอนุรักษ์
เขาแผงม้า ระบุว่า เศรษฐกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ ไฮซีซั่นจะเป็นหน้าหนาว (ตุลาคม-กุมภาพันธ์) ถ้าหน้าฝน (กรกฎาคม-กันยายน) ละอองฝนจะมีบรรยากาศเหมือนทะเลหมอก อุณหภูมิต่ำสุด 6 องศา ระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวบูมติดลมบน
แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เคยมีคนมาชวนไปดูที่วังน้ำเขียว มีที่อยู่แปลงหนึ่งเข้าซอยลึกประมาณ 1 ก.ม.เศษ เนื้อที่ 20 ไร่ ราคาขายตั้งไว้ 3 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่งจะกลับไปดูอีกครั้ง คราวนี้ราคาขายขยับขึ้นเป็น 5 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 60-70% เจ้าของที่แจ้งว่า มีความต้องการซื้อเข้ามาตลอดเวลา โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางภาคเหนือรอบล่าสุดทำให้คนที่สะสมที่ดินหนีจากภาคเหนือลงมาถามซื้อที่วังน้ำเขียวกันเยอะ "ตอนนี้ราคาจับไม่ลง ขึ้นแพงมาก"
อาจสรุปได้ว่า ภาวะราคาที่ดินในวังน้ำเขียววันนี้ดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายปราบปรามผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ถือเป็นเผือกร้อนต้อนรับรัฐบาลใหม่ที่ต้องช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า...สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร
ที่มา :
www.prachachat.net