ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

LogoThai.COM  |  ขายที่ดิน  |  ที่ดิน(ทั่วไป) (ผู้ดูแล: LesCop)  |  เอกสารสิทธิ์ที่ดิน ประเภทต่างๆ
LOGOthai.com

คลิกที่นี่ -->> เปรียบเทียบทำเลและราคาที่ดินวังน้ำเขียวผ่าน GooleMAP | คลิกที่นี้ -->> Upload ภาพ

หน้า: [1]   ลงล่าง
  ตอบ  |  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เอกสารสิทธิ์ที่ดิน ประเภทต่างๆ  (อ่าน 16444 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
LesCop
แหลม+คม=หอก
Administrator
เศรษฐีพันล้าน
*

พลังน้ำใจ 575
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 450


ขอหยุดที่86เอย


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 19 มกราคม 2556 19:03:55 »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง

     หลาย ๆ ท่านคงจะมีความสงสัยว่าในประเทศไทยนี้มีเอกสารที่แสดงเกี่ยวกับสิทธิ์ในที่ดินอย่างไรบ้าง เพราะหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ อ้างถึงเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน แบบต่าง ๆ เช่น โฉนด นส3. นส3ก. สปก. สค1 ภบท เป็นต้น ซึ่งก็คงเกิดความสนใจขึ้นมาบ้างว่าแล้วแต่ละอย่างมันคืออะไรล่ะ ผมจึงได้ไปรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์มาและเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยลองเอามาขึ้น web ดู ก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของเรื่องที่ได้นำมาอ้างอิงไว้
     เอกสารสิทธิ์ หมายถึง เอกสารหรือหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับที่ดิน ทั้งที่ทางราชการออกให้ หรือที่ราษฎรทำขึ้นเองแล้วนำไปแจ้งต่อทางราชการ พอจะแบ่งประเภทเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวได้ดังนี้

  • หนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดิน
  • เอกสารสิทธิ์ที่ราชการออกให้
  • เอกสารสิทธิ์ประเภทที่ราษฏรทำขึ้นเอง


* canood.jpg (170.35 KB, 380x380 - ดู 4709 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มกราคม 2556 19:09:34 โดย lescop » แจ้งลบกระทู้นี้หรือติดต่อผู้ดูแล   บันทึกการเข้า


>> เมื่อโกรธจัด อย่าเพิ่งตอบข้อความใคร..
>> เมื่อดีใจ อย่าเพิ่งให้สัญญา..
>> เมื่อเศร้าหนักหนา อย่างเพิ่งตัดสินใจ..
LesCop
แหลม+คม=หอก
Administrator
เศรษฐีพันล้าน
*

พลังน้ำใจ 575
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 450


ขอหยุดที่86เอย


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 มกราคม 2556 19:10:52 »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง

หนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดิน

ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน  ได้แก่

1.   ใบจอง (น.ส.2)  หมายความถึง หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทางราชการออกให้เนื่องจากการจับจองตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ยังไม่ให้สิทธิ์ครอบครองในที่ดินโดยสมบูรณ์ เพราะเป็นการอนุญาตให้ผู้จับจองที่ดินเข้าทำประโยชน์เป็นการชั่วคราว หากเห็นว่าผู้ที่เข้าครอบครองทำประโยชน์นั้นไม่ได้ทำประโยชน์ภายในเวลาที่กำหนด หรือเข้าทำประโยชน์แล้วทำประโยชน์ไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ทางราชการก็จะให้ผู้นั้นหมดสิทธิ์ในที่ดินและจะนำไปจัดให้บุคคลอื่นต่อไป ผู้มีชื่อในใบจองจึงยังไม่ใช่เจ้าของ จะนำไปจดทะเบียนขายไม่ได้ จำนองไม่ได้ เว้นแต่การโอนทางมรดก เมื่อทำประโยชน์ในใบจองเสร็จนำไปออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้แล้วแต่กรณี สำหรับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกจากใบจองต้องห้ามโอนภายใน 10 ปี (บางกรณีห้ามโอนภายใน 5 ปี หรือไม่ให้โอนเลย)

2.    หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หมายความถึง หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วมีเพียงสิทธิ์ครอบครอง (ไม่มีกรรมสิทธิ์) มีทั้งหมด 3 แบบ คือ

    2.1       แบบ น.ส. 3  เป็นแบบธรรมดาออกได้ในพื้นที่ทั่วไป  รูปแผนที่ใน น.ส. 3 เป็นแผนที่รูปลอย มีการยึดโยงเหมือนกันแต่เป็นการยึดโยงกับถาวรวัตถุหรือสิ่งอื่นที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น เช่น ต้นไม้ยืนต้นที่สภาพไม่แน่นอนการหาตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินจึงไม่แน่นอนยากต่อการตรวจสอบการจดทะเบียนนิติกรรมแต่ละครั้งจึงต้องทำการประกาศก่อน

    2.2       แบบ น.ส. 3 ก.  ออกได้เฉพาะในพื้นที่ที่ได้สร้างระวางรูปถ่ายทางอากาศแล้วเท่านั้น รูปแผนที่สามารถยึดโยงได้กับระวาง มีตำแหน่งแน่นอนไม่เหมือนกับแบบ น.ส. 3 ข้อจำกัดของแบบ น.ส. 3 ก. ก็คือ ออกไม่ได้ทุกพื้นที่ พื้นที่ใดที่ยังไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศจะออก น.ส. 3 ก. ไม่ได้

    2.3       แบบหมายเลข 3 ออกได้ทุกพื้นที่   วิธีการออกเหมือนกับการออก น.ส. 3 แต่ปัจจุบันไม่มีการออกแล้ว เพราะกรมที่ดินไม่พิมพ์ไปให้ ถ้ามีการแบ่งแยกที่ดินแปลงแยกจะออกเป็นแบบ น.ส. 3

    

3.   ใบไต่สวน (น.ส.5)  หมายความถึง หนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน และให้หมายความรวมถึง ใบนำด้วย ก่อนที่จะออกโฉนดที่ดินทุกครั้งจะต้องทำใบไต่สวนขึ้นก่อนทุกครั้ง เพราะใบไต่สวนเป็นแบบการสอบสวน เหตุที่กฎหมายกำหนดให้ใบไต่สวนเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดินและให้จดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมในใบไต่สวนได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดินก็เพราะ เมื่อสมัยก่อนนั้น การที่กรมที่ดินได้ดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ใดแล้ว เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจะนำเรื่องการออกโฉนดที่ดินทั้งหมดกลับมาที่กรมที่ดินเพื่อเขียนโฉนดแล้วนำไปแจกโฉนดที่ดินให้ราษฎรภายหลัง บางครั้งใช้เวลาเป็นปี ๆ ทำให้ราษฎรเดือดร้อนเพราะจะทำการโอนที่ดินหรือนำที่ดินไปจดทะเบียนสิทธิ์อื่นไม่ได้ เช่น จำนองเพื่อประกันการกู้ยืมเงิน เป็นต้น กฎหมายจึงกำหนดให้ใบไต่สวนเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่จะจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมใด ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน ดังนั้น เมื่อทางราชการได้ไปทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ใดทางราชการจะแจกใบไต่สวนให้ราษฎรยึดถือไว้ก่อนจนกว่าจะได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ใบไต่สวนมีบทบาทน้อยมาก เพราะเมื่อทางราชการไปทำการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ใดได้เตรียมการออกโฉนดที่ดินไว้พร้อมที่จะแจกโฉนดที่ดินให้ราษฎรได้ก่อนที่จะกลับ ทางปฏิบัติจึงแจกใบไต่สวนพร้อมทั้งแจกโฉนดที่ดินไปในคราวเดียวกัน

                      ส่วนใบนำก็เช่นเดียวกับใบไต่สวน กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินให้เจ้าของที่ดินไปนำทำการเดินสำรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้วก็ออกใบนำให้เจ้าของที่ดินไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น ก่อนออกโฉนดที่ดินบางสมัยก็ออกใบไต่สวน บางสมัยก็ออกใบนำจึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ในใบนำได้ ปัจจุบันใบนำไม่มีออก ที่เหลืออยู่ก็ส่วนน้อยและค่อย ๆ หมดไป

 

4.     โฉนดที่ดิน  (น.ส.4, น.ส. 4 ก. ฯลฯ)  หมายความถึง  หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้หมายความรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว

    4.1       โฉนดที่ดิน  ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน การที่จะออกโฉนดที่ดินได้จะต้องเป็นท้องที่ที่ได้สร้างระวางแผนที่หรือระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศแล้วเท่านั้น ถ้าไม่มีจะออกโฉนดที่ดินไม่ได้ ตำแหน่งของโฉนดที่ดินแต่ละแปลงที่ออกให้สามารถหาตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินได้แน่นอน เพราะมีการยึดโยงกับระวางได้ ซึ่งระวางดังกล่าวสร้างจากศูนย์กำเนิด ปัจจุบันศูนย์กำเนิดของระวางที่ใช้อยู่มี 29 ศูนย์ เช่น ที่กรุงเทพมหานครใช้ศูนย์กำเนิดที่ภูเขาทอง ที่จังหวัดนครปฐม ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์กำเนิด ที่เชียงใหม่ใช้ยอดเจดีย์ของวัดกู่เต้า เป็นต้น แต่ปัจจุบันกรมที่ดินได้นำระวางแผนที่ระบบพิกัดจาก U.T.M. ซึ่งหาตำแหน่งโดยระบบสากลมาใช้ และระบบศูนย์กำเนิดก็จะค่อย ๆ หมดไป

    4.2       โฉนดแผนที่ ออกตามประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445) ซึ่งโฉนดที่ดินฉบับแรกออกที่อำเภอบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันคืออำเภอบางปะอิน ต่อมาได้ออกเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) เหตุที่เรียกโฉนดแผนที่เพราะโฉนดที่ออกมีแผนที่ด้วย ซึ่งแตกต่างจากโฉนดที่แบบเดิมซึ่งไม่มีแผนที่ เช่น โฉนดสวน โฉนดป่า (เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษี) วิธีการออกโฉนดแผนที่เหมือนกับการออกโฉนดที่ดินทุกประการ หรือจะกล่าวว่าโฉนดแผนที่ก็คือโฉนดที่ดินก็ไม่ผิด

     4.3       โฉนดตราจอง  ออกตามพระราชบัญญัติออกตราจองชั่วคราว ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2449) ออกในมณฑลพิษณุโลก คือ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุดรดิตถ์ และสุโขทัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดทำให้โฉนดตราจองตกอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์บางส่วน ปัจจุบันไม่มีออก (เพราะ พ.ร.บ. ออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) จะออกใหม่ก็เฉพาะออกเนื่องจากการแบ่งแยกโฉนดตราจองเดิม แต่ปัจจุบันกรมที่ดินไม่ได้พิมพ์แบบพิมพ์โฉนดตราจองแล้ว จึงให้นำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินมาใช้แทนแล้วประทับตราว่า “โฉนดตราจอง”โฉนดตราจองเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน จึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน

    4.4       ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ออกตราพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 479 ออกได้ทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดพื้นที่ เช่น โฉนดตราจอง เดิมได้มีการออกตราจองที่เป็นใบอนุญาต เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ออกเมื่อทำประโยชน์เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินจะออกตราจอง “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ให้ ปัจจุบันไม่มีออก (เพราะ พ.ร.บ. ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 ถูกยกเลิก โดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) จะออกใหม่ก็เฉพาะออกเนื่องจากการแบ่งแยกตราจองฯ เดิม แต่ปัจจุบันกรมที่ดินไม่ได้พิมพ์แบบพิมพ์ตราจองฯ แล้ว จึงให้นำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินมาใช้แทน แล้ว ประทับตราว่า “ตราจอง” เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับโฉนดที่ดินจึงจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มกราคม 2556 19:39:10 โดย lescop » แจ้งลบกระทู้นี้หรือติดต่อผู้ดูแล   บันทึกการเข้า


>> เมื่อโกรธจัด อย่าเพิ่งตอบข้อความใคร..
>> เมื่อดีใจ อย่าเพิ่งให้สัญญา..
>> เมื่อเศร้าหนักหนา อย่างเพิ่งตัดสินใจ..
LesCop
แหลม+คม=หอก
Administrator
เศรษฐีพันล้าน
*

พลังน้ำใจ 575
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 450


ขอหยุดที่86เอย


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 19 มกราคม 2556 19:20:45 »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง

เอกสารสิทธิที่ราชการออกให้

หนังสือทั้ง 4 ประเภทนี้ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ผู้ที่มีแบบ ก.ส.น. 5 ก็ดี น.ค.3 ก็ดี จะต้องไปขอออกหนังสือรับรองทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแล้วแต่กรณี ซึ่งเมื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวแล้วจะต้องห้ามโอน 5 ปี รายละเอียด ดังนี้

ภ.บ.ท. 5เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่
ก.ส.น.5เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511
น.ค. 3เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสร้างตนเอง ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511
ส.ท.ก.เป็นหนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นผู้ออกให้
ส.ป.กเป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532


ภ.บ.ท. 5

เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ความหมายของที่ดิน ใน ภ.บ.ท. 5  หมายความว่า พื้นที่ดินและให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ำด้วย (มาตรา 6) ซึ่งมีข้อยกเว้น ตาม (มาตรา 8 ) เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่น สำหรับที่ดินต่อไปนี้

1)     ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

2)  ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ โดยมิให้หาผลประโยชน์

3)     ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่น หรือสาธารณะโดยมิได้หาประโยชน์

4)     ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ

5)  ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไม่ว่าจะใช้ประโยชน์ศาสนกิจ ศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือที่ศาลเจ้าโดยมิได้หาผลประโยชน์

6)     ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถาน สาธารณะโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน

7)     ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ การประปา การไฟฟ้า หรือการท่าเรือของรัฐ หรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ

8 )     ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว

9)  ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยเจ้าของที่ดินมิได้ใช้ หรือหาประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น

10) ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่มีข้อผูกพันยกเว้นตามอนุสัญญาหรือข้อตกลง

11) ที่ตั้งสถานทูต สถานกงสุล

12) ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 
ก.ส.น. 5

เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้นิคมสหกรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511การได้สิทธิในที่ดินของสมาชิกนิคมสหกรณ์ การจัดการที่ดินลักษณะนี้ กฎหมายมุ่งที่จะให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดินหรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว) หรือสิทธิครอบครอง (น.ส.3) เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์นั้น ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ คือ

1)     เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้ทำประโยชน์ที่ดินแล้ว

2)     เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

3)     ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อย

4)     ชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว

สมาชิกนิคมสหกรณ์ที่ปฏิบัติครบตามหลักเกณฑ์ ทั้ง 4 ข้อ ดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์นั้น ๆ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เมื่อได้รับอนุญาตแล้วสมาชิกนิคมสหกรณ์ผู้นั้นก็สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส. 3  ผู้ได้มาซึ่งที่ดินจะโอนที่ดินไปให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกอยู่ และภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีด้วย

 

น.ค. 3

เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสร้างตนเองตาม พ.ร.บ. จัดที่ดิน เพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511  การได้สิทธิในที่ดินของสมาชิกนิคมสร้างตนเอง เมื่อสมาชิกได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ

1)     ต้องเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2)     ต้องไม่มีหนี้สินที่เกี่ยวกับกิจการนิคม

3)     ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

4)  ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 8  ตาม พ.ร.บ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 สมาชิกสงเคราะห์จะออกหนังสือการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมสร้างตนเอง

 

ส.ท.ก.

กรมป่าไม้ได้เริ่มดำเนินการให้สิทธิทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มานับตั้งแต่ปี 2525 ต่อมาปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 กำหนดให้มีมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี ขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีความจำเป็นในการครองชีพ สามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้โดยไม่เดือนร้อน และโดยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งซึ่งความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองว่าสิทธิทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้มอบให้กับราษฎรนั้นเป็นไปตามกฎหมาย


การออกหนังสือ สทก.

1.   การที่จะให้ “สทก.” ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใด ๆ กรมป่าไม้จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเดินสำรวจในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น ๆ ว่ามีพื้นที่บริเวณใดที่ยังคงมีสภาพป่าดีอยู่ มีพื้นที่ใดที่ควรสงวนรักษาไว้มีพื้นที่ที่หมดสภาพป่าไปแล้วเป็นสภาพที่มีลักษณะเสื่อมโทรมจำนวนเท่าใด จัดทำแผนที่รายงานต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามประกาศกำหนดให้บริวเณพื้นที่ที่สภาพเสื่อมโทรมดังกล่าวให้เป็น “เขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” แล้วกรมป่าไม้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อพิจารณาให้สิทธิทำกินต่อไป

2.      เมื่อกรมป่าไม้กำหนดที่จะทำการสำรวจสภาพพื้นที่ในเขตป่าใด

2.1     ประชาสัมพันธ์นัดหมายราษฎรพื้นที่มาประชุมฟังคำชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ

2.2  ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินในเขตปรับปรุงป่าสงวนแหงชาติ ยื่นคำขอมีสิทธิทำกิน ตามเวลากำหนด โดยต้องนำบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านไปเป็นหลักฐานด้วย

2.3   เจ้าหน้าที่นัดหมายรษารผู้ยื่นคำขอแต่ละรายมานำสำรวจการถือครอบและตรวจสอบสภาพพื้นที่ หากถูกต้องตามกลักเกณฑ์และข้อกำหนดก็จำทำการรังวัดขอบเขตแปลงที่ดิน พร้อมกับฝังหลักเขตแสงดแนวแปลงที่ดิน

3.   หนังสือ “สทก.” ที่มอบให้ราษฎรจะลงนามอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีลักษณะดังนี้

แบบที่ 1    เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือแบบ สทก.1ก. เป็นหนังสืออนุญาตให้ครั้งแรก มีอายุการอนุญาต 5 ปี ขนาดเนื้อที่อนุญาตให้ตามที่ครอบครองอยู่จริง แต่ไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเมื่อครบกำหนดการอนุญาตให้ครั้งแรก จะเปลี่ยนหนังสืออนุญาตตามแบบ สทก.2 ก

แบบที่ 2    แบบ สทก.2 ก ออกให้สำหรับผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไข กรมป่าไม้จะออกหนังสือฉบับนี้ให้เพื่อมีสิทธิทำกินในที่ดินเดิมต่อไปซึ่งไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว (โดยจะเรียกเก็บหนังสือ สทก.1 ก ด้วย) มีอายุการอนุญาต 5 ปี และต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้อัตราไร่ละ 20 บาท (ต่อหนึ่งคราวการอนุญาต) เมื่อครบกำหนดก็จะมีการพิจารณาต่ออายุให้

แบบที่ 3    เรียกว่า “หนังสืออนุยษตให้ทำการปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือ แบบ สทก.1 ข เป็นหนังสืออนุญาตที่ออกให้แก่ราษฎรผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก ที่ครอบครองพื้นที่เกิดกว่า 20 ไร่ และมีความประสงค์จะปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเนื้อที่ไม่เกิน 35 ไร่ ต่อครอบครัว มีอายุการอนุญาตคราวละ 10 ปี และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตในอัตราไร่ละ 20 บาท ทั้งนี้ราษฎรจะต้องปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น เมื่อครบกำหนดเวลาการอนุญาตก็สามารถต่ออายุได้
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้มีสิทธิทำกิน                    

1.   จะต้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพิสูจน์แล้ว

2.      เป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว

3.      ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าที่มีสภาพเป็น ต้นน้ำลำธาร ภูเขาสูงชัน หรือมีสภาพที่ควรรักษาไว้

4.      ไม่เป็นป่าชายเลน

5.      ไม่เป็นพื้นที่ป่าที่ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้

6.      ไม่เป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงามอันควรรักษาไว้

7.      ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งได้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือได้รับอนุมัติโครงการสำหรับปลูกป่าระยะ 5 ปีไว้แล้ว
คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตมีสิทธิทำกิน

-          เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล)

-          บรรลุนิติภาวะแล้ว และเป็นหัวหน้าครอบครัว

-          เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่ขอมีสิทธิทำกินอยู่แล้วสิทธิ

1.      สามารถอยู่อาศัยและทำกินต่อไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยถูกต้องตามกำหมาย

2.      สิทธิทำกินตกทอดไปถึงทายาทได้

3.   สามารถขออนุญาตทำไม้ที่ได้ปลูกขึ้นภายในที่ดินที่ได้รับอนุญาต (ตามแบบ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก หรือ สทก.1 ข)เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า

4.   สามารถขอรับการสนับสนุนเงินทุน ในรูปของสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตร ได้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามโครงการที่กรมป่าไม้ และ ธ.ก.ส. จัดทำขึ้น
หน้าที่

ผู้ที่ได้รับ สทก. ต้องปฏิบัตินั้นคือ ข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ ซึ่งปรากฏหลังของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ สารสำคัญคือ

1.   จะต้องทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจาก สทก. ตามวัตถุประสงค์ที่ขอไว้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และจะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัว เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมิได้

2.      ห้ามซื้อ-ขายที่ดิน สทก.

3.      ห้ามละทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือไม่อยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับ สทก.

4.      ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าในบริเวณติดต่อใกล้เคียง

5.   ให้ความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ มาขอตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขหนังสืออนุญาต สทก. หากไม่ปฏิบัติตาม “หน้าที่”หรือ ทำผิด “เงื่อนไข” จะถูกเพิกถอน “สิทธิทำกิน” โดยจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกรณีใด ๆ มิได้

 

การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไข สทก.

กรมป่าไม้จะส่งเจ้าหน้าที่ออกมาพบประชาชนผู้ได้รับ สทก. โดยสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบการใช้ที่ดิน ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่หากถูกต้องก็จะมี “สิทธิทำกิน” ต่อไปเรื่อย ไ
 การดำเนินการในปัจจุบัน

                   ปัจจุบันกรมป่าไม้ไม่ได้มีการออก สทก. เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินก็จะหันไปขอเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. แทน แต่สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ สทก. แต่เดิมอยู่แล้วก็ยังคงมีสิทธิอยู่ตามเดิม

 

การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)

ความหมายของ “การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” กำหนดไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินมาตรา 4 ความว่า “การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือ มีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น”

การปฏิรูปที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรเป็นของ
ตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายตลอดไปตามขนาดและความจำเป็นของเกษตรกรรมนั้น ๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่ปรับปรุง ก่อสร้างถนน แหล่งน้ำ สาธารณูปโภคต่าง ๆ และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 จึงเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากมุ่งหมายให้เกษตรกรมีความเท่าเทียมกันด้านสิทธิและการถือครองที่ดินแล้วยังให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกรเพื่อให้สามารถดำรงชีพในที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินได้งานหลักของ ส.ป.ก. จึงมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ

1)     งานจัดที่ดิน โดยนำที่ดินของรัฐและที่ดินเอกชนมาให้เกษตรกรเช่า เช่าซื้อ

2)     งานพัฒนาขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำ เท่าที่จำเป็นในเขตปฏิรูปที่ดิน

3)     งานพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกร

 “เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรมหรือเป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์และ
เงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย



คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับที่ดิน

ผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยวิธีการปฏิรูปที่ดินจะต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น กล่าวคือ

        1.   เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มิใช่อาชีพอื่น และต้องไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ

        2.   เป็นผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่เป็นเกษตรกร แต่ประสงค์จะเป็นเกษตรกรและมาขอรับการจัดที่ดินโดยจะต้องเป็นผู้ที่ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือเป็นบุตรของเกษตรกร และต้องไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและไม่มีอาชีพอื่น อันมีรายได้ประจำเพียงพอแก่การยังอาชีพอยู่แล้ว

        

การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ

การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การนำที่ดินของรัฐซึ่งถูกราษฎรบุกรุกถือครองโดยไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย หรือที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้มาจัดให้เกษตรกรเข้าทำกินเป็นการถาวรและถูกต้องตามกฎหมาย หรือ การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การที่ ส.ป.ก. นำที่ดินของรัฐ ได้แก่ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวรที่เสื่อมโทรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุ ที่กระทรวงการคลังให้ความยินยอมแล้ว ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่จำแนกออกจากเขตป่าไม้ถาวร นำมาจัดให้เกษตรกรเช่า เช่าชื้อ เข้าทำประโยชน์ หรือจัดให้โดยมีค่าชดเชย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มกราคม 2556 19:33:21 โดย lescop » แจ้งลบกระทู้นี้หรือติดต่อผู้ดูแล   บันทึกการเข้า


>> เมื่อโกรธจัด อย่าเพิ่งตอบข้อความใคร..
>> เมื่อดีใจ อย่าเพิ่งให้สัญญา..
>> เมื่อเศร้าหนักหนา อย่างเพิ่งตัดสินใจ..
LesCop
แหลม+คม=หอก
Administrator
เศรษฐีพันล้าน
*

พลังน้ำใจ 575
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 450


ขอหยุดที่86เอย


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 19 มกราคม 2556 19:34:41 »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง

เอกสารสิทธิประเภทที่ราษฎรทำขึ้นเอง
แล้วนำไปแจ้งต่อทางราชการ

ซึ่งได้แก่ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งราชการประกาศให้ผู้ครอบครอง และทำประโยชน์อยู่ในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (1 ธ.ค.2497) ไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน

        วิธีการแจ้งนั้น เจ้าของที่ดินจะไปขอแบบพิมพ์ ส.ค. 1 จากพนักงานเจ้าหน้าที่ แบบพิมพ์นั้นจะเป็นแผ่นมีรอยปรุตรงกลางมีข้อความเหมือนกันทั้งสองข้าง เมื่อได้แบบพิมพ์มาแล้วเจ้าของที่ดินจะกรอกข้อความเองเหมือนกันทั้งสองข้างแล้วนำไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่จะลงเลขรับไว้ตามหมู่ที่ ตำบล อำเภอ ที่รับแจ้งลงในทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้วตีตราประจำต่อใน ส.ค. 1 ตรงรอยปรุแล้วฉีก ส.ค. 1 ตามรอยปรุเป็น 2ฉบับ ฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่อำเภอ อีกฉบับหนึ่งมอบให้เจ้าของที่ดินไป ส.ค. 1

          แต่หลังจากนั้น ก็มีการแจ้ง ส.ค. 1 เรื่อยมา โดยรับแจ้งเนื่องจากได้รับการผ่อนผันแจ้งการครอบครองจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย การผ่อนผันแจ้งการครอบครองได้ดำเนินการมาถึงปี พ.ศ. 2515 จึงยกเลิกมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หลังจากปี พ.ศ. 2515 จึงไม่มีการผ่อนผันแจ้งการครอบครองที่ดิน เว้นแต่บางเรื่องที่ค้างพิจารณาอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ผ่อนผันได้ภายหลังจากนั้น

           การแจ้ง ส.ค. 1 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด เดิมใครมีสิทธิอยู่อย่างไร เมื่อแจ้ง ส.ค. 1 แล้วก็คงมีสิทธิอยู่อย่างนั้น กล่าวคือ ถ้าเดิมใครครอบครองทำประโยชน์อยู่ในทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ หรือป่าสงวน เมื่อแจ้ง ส.ค. 1 แล้วก็ยังเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ หรือป่าสงวนอยู่เช่นเดิม หรือเดิมเป็นผู้เช่าที่ดินคนอื่นแม้จะนำที่ดินที่เช่าไปแจ้ง ส.ค. 1 ก็ยังคงเป็นผู้เช่าอยู่เช่นเดิม ผู้แจ้งจะอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นใหม่ไม่ได้ และ ส.ค.1 นั้นไม่ใช้เอกสารสิทธิ อันเป็นเอกสารราชการ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำขึ้นจึงเป็นเพียงเอกสารธรรมดา ส.ค.1 มีเพียงสิทธิครอบครอง โอนไม่ได้ (เว้นแต่โอนโดยการส่งมอบการครอบครอง) แต่ ส.ค. 1 นำไปจดทะเบียนจำนองได้ หากแต่ผู้รับจำนองจะต้องเสี่ยงภัยเอาเองในเมื่อถึงกาลบังคับจำนองอาจจะบังคับจำนองไม่ได้โดยเหตุที่กล่าวแล้ว
แจ้งลบกระทู้นี้หรือติดต่อผู้ดูแล   บันทึกการเข้า


>> เมื่อโกรธจัด อย่าเพิ่งตอบข้อความใคร..
>> เมื่อดีใจ อย่าเพิ่งให้สัญญา..
>> เมื่อเศร้าหนักหนา อย่างเพิ่งตัดสินใจ..
LesCop
แหลม+คม=หอก
Administrator
เศรษฐีพันล้าน
*

พลังน้ำใจ 575
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 450


ขอหยุดที่86เอย


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 19 มกราคม 2556 19:37:06 »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง

ภาษีที่ดิน
 
การลดหย่อน ยกเว้น หรือลดภาษีที่ดิน

1.     บุคคลธรรมดา  ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน และใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตน หรือประกอบกสิกรรมของตน ให้ลดหย่อนจำนวนเนื้อที่ 100 ตารางวา 1 ไร่ 5 ไร่ ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 26 มกราคม และ กฎกระทรวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 5 มกราคม 2525 กำหนดท้องที่ชุมชนหนาแน่น มาก ปานกลาง และท้องที่ชนบท ทั้งนี้เฉพาะในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแต่จังหวัดเดียว ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นสถานการค้าหรือให้เช่าไม่ได้รับการลดหย่อน กรณีบุคคลธรรมดาหลายคนเป็นเจ้าของร่วม ได้รับลดหย่อนรวมกัน (ม. 22 และข้อ 5 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516))

2.     ผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเว้นหรือลดภาษีที่ดินเพาะปลูกตามระเบียบ มท. ส่วนที่ดินสุสานที่ได้รับประโยชน์ตอบแทนอาจยกเว้นให้ตามกฎกระทรวง(ม.23, ม.23 ทวิ)

 

กระบวนการหรือขั้นตอนของการภาษีที่ดิน

1.ผู้เสียภาษี (รวมทั้งหน้าที่ของเจ้าของที่ดิน)

1)    เจ้าของที่ดิน คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน (ม.6)

2)    เจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคม มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน ตามบัญชีอัตราภาษีข้างท้าย (ม. 7)

3)      เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ยืนแบบแสดงรายการเป็นรายแปลง (ม.24)

4)    ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีในเดือนเมษายนของทุกปี หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้ง (ม.35)

5)      ผู้ใดไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียเกินรับเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันเสียภาษีหรือวันรับแจ้ง (ม.44)

6)      เจ้าของที่ดินหรือผู้มีหน้าที่ชี้เขตและแจ้งจำนวนที่ดินตามวันเวลาที่ทำการสำรวจ (ม. 28)

 

2.การยื่นแบบ

1)    เจ้าของที่ดินยื่นแบบเป็นรายแปลง ถ้าไม่ยื่นแบบเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทราบว่ายังไม่ยื่นแบบ และแบบแสดงรายการให้ใช้ได้ทุกรอบ
4 ปี (ม.29, 48 ข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516))

2)      ถ้าเจ้าของที่ดินตาย สาบสูญ หรืออื่น ๆ ให้ผู้จัดการหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ปกครองเป็นผู้ยื่น (ม.25)

3)    นิติบุคคลให้ผู้จัดการหรือผู้แทนยื่นแบบและเจ้าของที่ดินร่วมรับผิดชอบร่วมกันในการยื่นแบบ (ม.26,27)

4)    การยื่นแบบต่อเจ้าพนักงานประเมินตาม ม.29 (ข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516)

5)    เจ้าของที่ดินยื่นแบบเป็นรายแปลงตาม ม. 24, 29 ในเดือนมกราคมของปีแรกที่ตีราคาปานกลางที่ดินตาม ม.16 และให้ใช้ได้ทุกปีในรอบ 4 ปี ยื่นแบบต่อเจ้าพนักงานประเมินตาม ม. 29 (ม.24, 30 และข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2516)

 

 

ที่มา  http://www.onep.go.th/Naturalresources/soil/sit/INDEX.HTM

รวบรวมโดย กลุ่มงานประสาน 3 กองประสานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แจ้งลบกระทู้นี้หรือติดต่อผู้ดูแล   บันทึกการเข้า


>> เมื่อโกรธจัด อย่าเพิ่งตอบข้อความใคร..
>> เมื่อดีใจ อย่าเพิ่งให้สัญญา..
>> เมื่อเศร้าหนักหนา อย่างเพิ่งตัดสินใจ..
LesCop
แหลม+คม=หอก
Administrator
เศรษฐีพันล้าน
*

พลังน้ำใจ 575
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 450


ขอหยุดที่86เอย


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 19 มกราคม 2556 19:43:46 »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความอ้างถึง

โฉนด
แปลว่า [ฉะ-โหฺนด] น. หนังสือคู่มือสำหรับถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน.

source : อ.เปลื้อง ณ.นคร

โฉนด : [ฉะโหฺนด] น. หนังสือสําคัญของทางราชการแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน, ก่อนนี้ถ้าเป็นสวนปลูกไม้ยืนต้น เรียกว่า โฉนดสวน, ถ้าเป็นสวนไม้ล้มลุก เรียกว่า โฉนดป่า, เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๔ เริ่มออกโฉนดแบบใหม่โดยวิธีรังวัดปักหลักเขตลงในที่ดินด้วยหมุดหลักฐานการแผนที่ และแสดงรูปแผนที่ที่ดินนั้นลงไว้ในโฉนดด้วย เรียกว่า โฉนดแผนที่; หนังสือ เช่น ออกโฉนดบาดหมายให้แก่ราชการ. (บรมราชาธิบาย ร. ๔).

source : ราชบัณฑิตยสถาน
แจ้งลบกระทู้นี้หรือติดต่อผู้ดูแล   บันทึกการเข้า


>> เมื่อโกรธจัด อย่าเพิ่งตอบข้อความใคร..
>> เมื่อดีใจ อย่าเพิ่งให้สัญญา..
>> เมื่อเศร้าหนักหนา อย่างเพิ่งตัดสินใจ..
แท็ก: เอกสารสิทธิ์ ที่ดิน โฉนด 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  ตอบ  |  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


:: ข้อตกลงร่วมกัน ::
ห้ามโพสต์รูปลามก หรือสิ่งผิดกฏหมายทุกประเภท
ห้ามโพสต์ข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ห้ามใช้วาจาไม่สุภาพ หรือด่าทอ ข้อความหรือเนื้อหาที่เกิดขึ้น ผู้โพสต์ต้องเป็นคนรับผิดชอบเท่านั้น หากเราตรวจสอบว่ามีการโพสต์รูปลามก หรือทำสิ่งผิดกฎหมาย
เราจะลบโพสต์ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า




คลิกที่นี่ -->> จัดพระของขวัญเข้ารุ่นและพิมพ์

หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.278 วินาที กับ 26 คำสั่ง